
แทบจะเป็นวันแรกๆ ของผมเลยก็ว่าได้ ที่เดินทางมาอังกฤษ แล้วมีโอกาสได้คุยกับเจ้าของร้านอาหารไทยในผับแห่งหนึ่ง
ด้วยความที่ชอบกิน “ผัดมาม่า” ก็เลยถามเขาไปว่า เมนูผัดมาม่า น่าสนใจมั้ย สำหรับอาหารง่ายๆ สไตล์ขายในผับ ซึ่งไม่มีอะไรเสียหายเพราะเป็นบะหมี่ที่เมื่อเราต้องการใช้ จึงค่อยมาต้มเส้นให้นิ่ม ซึ่งเนื้อสัตว์หรือผักที่เป็นวัตถุดิบในการปรุง ก็ใช้ของปกติที่ขายอยู่สไตล์ “ผัดไทย” ก็ได้
คำตอบที่ได้รับ ก็คือ “ฝรั่งเขาไม่กินหรอก พวกอาหารแบบนี้ เขารักษาสุขภาพ”
สตั๊นท์กับคำตอบไป 10 วินาที เพราะผมเองเพิ่งมาถึงอังกฤษได้ไม่กี่วัน จะไปนั่งเถียงกับคนที่เขาอยู่ที่นี่ เรียนที่นี่มาสิบกว่าปี คงจะไม่เหมาะ


โดยปกติ คนที่มาอยู่ในอังกฤษ ไม่ว่าจะมาเรียน มาทำงาน หรือมาท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย ชาวเอเซีย หากคิดถึง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็ต้องไปเดินหาซื้อกัน โดยแหล่งใหญ่ที่สุดใน ลอนดอน ก็คือ ไชน่าทาวน์ (Chinatown) ชุมชนคนจีน และเป็นตลาดซูเปอร์มาร์เก็ต และเป็นศูนย์กลาง ร้านอาหารจีน และร้านอาหารหลากหลายเชื้อชาติ
ที่อื่นๆ ก็มีกระจัดกระจายกันไป ตามซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ตามเขตที่ดูจะมีศักยภาพ พอจะเปิดร้านและมีคนไทย คนฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม ฯลฯ มาซื้อของสดของแห้งกันบ้าง เอาเฉพาะในลอนดอน ก็มีซูเปอร์มาร์เก็ตหลากเชื้อชาติเล็กๆ แถว Earl’s Court โดยมีร้าน “เจ๊หมวย” ฉายา ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากที่สุดร้านหนึ่งในลอนดอน
ตอนผมมาใหม่ๆ เมื่อปี 2001 ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เช่น Asda, Tesco, Sainsbury’s ผู้นำค้าปลีกในอังกฤษ จำได้ว่ายังไม่ได้เปิดเชลฟ์ของเอเซียกันเลย
คุณไม่สามารถไปเดินหาซื้อน้ำปลา ซีอิ๊วขาว หรือแม้แต่ข้าวสารหอมมะลิ ในซูเปอร์ฯ เหล่านี้
คุณจะแปลกใจว่า 18 ปี เชลฟ์ของซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษ เปลี่ยนไป
มีสินค้าของเอเซียเข้ามามากมาย สินค้าที่คุณไม่เคยคิดว่าจะมีบางตัว เช่น ไวไว ใน Asda ก็นำมาขายแล้ว แม้ไวไว จะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่หายากในอังกฤษก็ตาม
ตอบคำถามว่า “ฝรั่งไม่กินมาม่า” จริงหรือ??
ถ้าคุณไปเดินดูซูเปอร์มาร์เก็ตของฝรั่งในปัจจุบัน คุณจะทึ่ง และแปลกใจ เนื่องจากมีบะหมี่กึ่งฯ มากมายหลากหลายสไตล์ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมากกว่าเมืองไทยเสียด้วยซ้ำ
เพราะเขาเอาแบรนด์ดังๆ ของแต่ละประเทศเข้ามา ทั้งไทย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย อินโดนีเซีย แถมยังมีแบรนด์ระดับเจ้าตลาดในอังกฤษ คือ Pot Noodle ซึ่งเจ้าของเป็นชาวเวลส์ และได้ไอเดียนี้กลับมาผลิต โดยเปิดตลาดเมื่อปี 2007 และเชื่อว่านั่น ก็คือการดึงฝรั่ง ให้เข้ามารู้จัก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันเป็นครั้งแรก

ระยะเวลาที่ผ่านมา ก็เป็นคำตอบได้อย่างหนึ่งนะครับ ว่าวัฒนธรรมการกิน ภายใต้ความเคลื่อนไหวของประชากรในโลกที่เราเรียกว่า โลภาภิวัฒน์
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพิ่งจะเคลื่อนตัวมาถึงฝั่งยุโรป และเข้าอังกฤษมาได้อย่างจริงจัง เพียงไม่ถึง 10 ปีมานี่เอง
“ฝรั่งไม่กินมาม่า” จึงไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงที่ผมได้รับวันนั้น และเฝ้ารอดูอย่างเชื่องช้า
ซึ่งอย่างไรก็ตามการกินมาม่า ของฝรั่ง ก็ยังไม่ได้เข้าไปเป็นดัชนีวัดเรื่องเศรษฐกิจได้ เหมือนในเมืองไทยนะครับ เนื่องจากว่าที่นี่เขาไม่ได้มีทัศนคติว่าการอาหารประเภทกึ่งสำเร็จรูป เป็นการประหยัด สาเหตุเพราะประเทศอังกฤษ มีอาหารกึ่งสำเร็จรูปมากกว่าครึ่งของอาหารที่ขายกันอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต
มีโอกาสเดินทางมาอังกฤษ พกมาม่า ติดกระเป๋ามาบ้างก็ดีครับ รสชาติแตกต่างกับของที่นี่อย่างเห็นได้ชัด
หรือจะมาลองซื้อของที่มาชิมดู ก็น่าลองอยู่บ้างนะครับ… สนนราคา ก็เริ่มจาก 50 เพนนี (เกือบ 20 บาท) ลองดูขำๆ อาจจะมีรสชาติไหนที่ถูกปากคุณ แล้วซื้อกลับไปฝากครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหายกันก็ได้นะครับ…


บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ได้รับความนิยมที่สุดในสหราชอาณาจักร
ที่มา : เว็บไซต์ Uk.bestreviews.guide
Hits: 1175