27/09/2023

ฝันเฟื่อง เรื่องรถเมล์ไทย สไตล์อังกฤษ


นายซาดิค คนนี้ มีแนวนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนชาวลอนดอน ด้วยการหยุดการปรับราคาค่าเดินทางเอาไว้ 3 ปี ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ




ใช่ครับ… “ฝัน” มันเป็นความฝันจริงๆ สำหรับการเดินทางโดยรถเมล์ หรือรถประจำทาง ที่ฝรั่งเรียกกันว่า “รถบัส”

ผมก็เป็นคนไทยทั่วๆ ไปคนหนึ่งที่มีความฝัน อยากให้ประเทศไทย บ้านเกิดเมืองนอน มีพัฒนาการที่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตของประชาชนมีมากขึ้น การดำเนินชีวิต รวมทั้งการใช้ชีวิต มีความสะดวกสบาย น่าพึงพอใจ ซึ่งควรจะมาพร้อมๆ กับค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล

เรื่องรถประจำทาง ก็คืออีกเรื่องหนึ่งที่ผมเชื่อว่าในอังกฤษ มีระบบการขนส่งมวลชนที่ครบถ้วน ทันสมัย และเขาก็ไม่ต้องเรียกว่าระบบอัจฉริยะ เขาเป็นระบบธรรมดาที่สุดแสนจะชาญฉลาด

และเมื่อสอดรับกับการสำนึกความรับผิดชอบ ของผู้รับฉันทานุมัติ ให้เข้ามารับหน้าที่ผู้บริหารกิจการต่างๆ ในบ้านเมือง ที่ “คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก”

รถประจำทาง ทางเลือกที่สำคัญของชาวลอนดอน จึงได้รับการดูแลบริหาร อย่างเข้าใจลึกซึ้งถึงความต้องการของผู้โดยสารเลยก็ว่าได้

ปัจจุบันนี้ ถ้าใครใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอน มีบัตร Oyster Card บัตรเติมเงินที่ใช้สำหรับเดินทางในลอนดอนได้ทั้ง รถประจำทาง รถไฟใต้ดิน รถไฟเหนือพื้นดิน รถไฟราง รถราง เรือประจำทาง และกระเช้าลอยฟ้า

เจ้าบัตรนี้เพียงแต่เติมเงินเข้าไปในจำนวนที่เราต้องการ

หรือถ้าไม่เติม ก็จะขึ้นรถประจำทางได้ 1 เที่ยวแล้วตัดเงินคุณไป เมื่อเติมเงินแล้ว

แต่อย่าหวังว่าจะโกงเขาได้ เพราะบัตรนี้ ต้องเสียค่ามัดจำ 5 ปอนด์ก่อน เพราะฉะนั้น ก็เหมือนคุณมีเงินประกันเอาไว้แล้วจำนวน 5 ปอนด์นั่นเอง

ระบบขนส่งมวลชนในลอนดอน ดูแลโดย Transport for London (TfL) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ว่าการนครลอนดอน (Mayor of London) ซึ่งคนปัจจุบันก็คือ นายซาดิค ข่าน

ซาดิค ข่าน ผู้ว่าการนครลอนดอน ได้รับการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2016 (ภาพ : ทวิตเตอร์ MayorofLondon)

นายซาดิค คนนี้ มีแนวนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนชาวลอนดอน ด้วยการหยุดการปรับราคาค่าเดินทางเอาไว้ 3 ปี ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ อัตราค่าครองชีพ และอัตราค่าแรงขั้นต่ำ อยู่ประมาณ 2%

ด้วยนโยบายนี้ยังไม่พอ ยังมีการปรับแนวการคิดค่ารถประจำทาง จากเดิมทีเที่ยวละ 1.50 ปอนด์ ขึ้น 3 เที่ยวครบ 4.50 ปอนด์แล้ว ขึ้นครั้งต่อๆ ไปภายในวันนั้นไม่เกินเที่ยงคืน ก็จะไม่คิดค่ารถเพิ่มอีกแล้ว

นอกจากนั้น เมื่อต้นปี 2018 ที่ผ่านมา ก็ได้เพิ่มแนวทางช่วยประชาชนประหยัด ด้วยการเปิดให้นั่งรถประจำทางกี่เที่ยวก็ได้ ภายใน 1 ชั่วโมง (จริงๆ แล้วได้ถึง 70 นาที รายงานจาก Londonist)

นั่นหมายความว่าคุณอาจจะประหยัดค่ารถได้มากเลยทีเดียว ถ้าหากคุณต้องไปส่งลูกๆ ที่โรงเรียน ซึ่งมักจะอยู่ไม่ไกลจากบ้าน และเมื่อกลับถึงบ้าน คุณก็เสียแค่ 1.50 ปอนด์ พอถึงตอนบ่าย ไปรับลูกๆ ใน 1 วัน คุณจะเสียค่ารถเพียงแค่ 3 ปอนด์ ถ้าหากคุณไม่ได้ไปไหนมากกว่านั้น

หรือที่ยกตัวอย่างมาเพิ่มว่า หากคุณตื่นขึ้นมาสายๆ แล้วอยากจะเสื้อผ้าใหม่ คุณก็นั่งรถตรงไปที่ๆ คุณต้องการช้อปปิ้ง แต่ไปเดินอยู่เกือบ 1 ชั่วโมง ไม่ได้ของอย่างที่อยากได้ นั่งรถกลับบ้าน คุณก็เสียเงินเพียง 1.50 ปอนด์

สิทธิประโยชน์นี้ ไม่ใช่ได้รับเพียงแต่ชาวลอนดอนซะที่ไหน… ใครๆ ก็ได้ประโยชน์ ทั้งนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา คนทำงาน ล้วนแต่ได้หมด….

เห็นมั้ยครับ… ว่าผู้ที่เข้ามาทำงานให้ประชาชนในบ้านเมืองเขา คำนึงถึงใครเป็นสำคัญ???

ตัดภาพมาที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ

ผมยังพอจำได้เลาๆ ว่าค่ารถเมล์ที่เคยขึ้นตอนเรียน ยังทันในราคา 1.50 บาท แล้วขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลนานัปการ จนที่สุดก่อนผมจะมาที่อังกฤษ รถประจำทางอากาศธรรมชาติ เทีี่ยวละ 3.50 บาท

ปัจจุบันนี้คงจะไปไกลถึงกี่บาทแล้วครับ???

กลับเมืองไทยไปหลายปีก่อน มีโอกาสได้นั่ง “รถเมล์ฟรี จากภาษีประชาชน” ผมยกมือไหว้ท่วมหัว ขอบคุณผู้ที่จ่ายภาษีทุกท่าน ที่ทำให้ชาวบ้านตาดำๆ และนักท่องเที่ยวอีกมากมาย ได้มีโอกาสนั่งรถเมล์ฟรี…

แต่สำหรับผมเอง เรื่องราวของรถเมล์ ที่น่าประทับใจที่สุด ก็คือ ทั้งรถ ทั้งคน 30-40 ปีมานี้ เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปมาก นอกเสียจากราคาที่ขึ้นไปเรื่อยๆ

อนุรักษ์ไว้ครับ… รถเมล์แบบไทยๆ บริการแบบไทยๆ

เขียนๆ อยู่ ก็ไม่รู้ทำไม… หวนคิดถึงรถไฟไทย

คิดถึง “ไอ้ผาง รฟท.”


Hits: 140


อย่าพลาดเรื่องนี้ >  เช็ดแว่นรอ... จักรยานเปลือย London สัปดาห์นี้