
อาร์เอ็มเอส ไททานิก (อังกฤษ: RMS Titanic) เป็นเรือโดยสารซึ่งจมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 หลังชนภูเขาน้ำแข็งระหว่างการเดินทางเที่ยวแรกจากเซาท์แทมป์ตัน สหราชอาณาจักร ไปนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
มีระวางขับเคลื่อนขนาด 46,428 ตัน ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น และเคยถูกนับว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ด้วยฝีมือมนุษย์ ที่เคลื่อนที่ได้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมกับมีคำโฆษณาว่าเป็น “เรือที่ไม่มีวันจม”
การจมดิ่งสู่ท้องทะเลของเรือไททานิคนั้น เกิดขึ้นในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) ซึ่งวันที่ 15 เมษายนของทุก ๆ ปี ทั่วโลกจะมีการหยิบยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาพูดถึงเพื่อรำลึกถึงความสูญเสีย
ปีนี้นับเป็นปีที่ 107 ของโศกนาฏกรรมทางทะเลครั้งเลวร้าย กับเรือไททานิค
การจมของไททานิก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1,514 ศพ นับเป็นภัยพิบัติทางทะเลในยามสงบครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
ในขณะการเดินทางเที่ยวแรก เป็นหนึ่งในสามเรือโดยสารชั้นโอลิมปิกซึ่งดำเนินการโดย ไวท์สตาร์ไลน์ สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1909-1911 โดยอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนดวูล์ฟฟ์ ในเบลฟาสต์ ประเทศไอร์แลนด์ สามารถบรรทุกผู้โดยสาร 2,223 คน
ผู้โดยสารบนเรือ ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่ก็เดินทางร่วมกับผู้อพยพกว่าพันคน จากบริเตนใหญ่, ไอร์แลนด์ และ สแกนดิเนเวีย ซึ่งกำลังแสวงหาชีวิตใหม่ในทวีปอเมริกาเหนือ
เรือได้รับการออกแบบ ให้มีความสะดวกสบายและความหรูหราที่สุด โดยบนเรือมียิมเนเซียม, สระว่ายน้ำ, ห้องสมุด, ภัตตาคารระดับหรู และห้องจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีโทรเลขไร้สาย ซึ่งจัดเตรียมไว้เพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร เช่นเดียวกับการใช้สำหรับการปฏิบัติการด้วย
แม้ว่า ไททานิก จะมีคุณลักษณะความปลอดภัยที่ก้าวหน้า เช่น ห้องกันน้ำและประตูกันน้ำที่ทำงานด้วยรีโมต ก็ยังขาดเรือชูชีพที่เพียงพอสำหรับบรรทุกผู้โดยสารทุกคนบนเรือ เนื่องจากระเบียบความปลอดภัยในทะเลที่ล้าสมัย จึงมีเรือชูชีพเพียงพอสำหรับผู้โดยสาร 1,178 คนเท่านั้น เกินครึ่งของผู้ที่เดินทางไปกับเรือในเที่ยวแรกเล็กน้อย และหนึ่งในสามของความจุผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดเท่านั้น
[envira-gallery id=”5500″]
หลังเดินทางออกจากเซาท์แทมป์ตันเมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 ไททานิก แวะที่เชอร์บูร์ก (Cherbourg) ในฝรั่งเศส และควีนส์ทาวน์ (ปัจจุบันคือ โคฟ, Cobh) ในไอร์แลนด์ ก่อนมุ่งหน้าไปทางตะวันตกมุ่งสู่นิวยอร์ก
ในช่วงนั้น เป็นช่วงเวลาที่ธารน้ำแข็งแถบกรีนแลนด์เริ่มละลาย ทำให้ภูเขาน้ำแข็ง เคลื่อนตัวลงมาในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือและลอยตามกระแสน้ำในมหาสมุทรลงมาทางใต้
เป็นเหตุให้ เรือไททานิค ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง ในช่วงเวลาประมาณ 23.49 น. ของวันที่ 14 เมษายน (ตามเวลาเรือ) ขณะแล่นอยู่ในท้องทะเลห่างจากเมืองเซาท์แธมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร ทำให้เรือได้รับความเสียหาย
การชนแฉลบทำให้แผ่นลำเรือไททานิก งอเข้าในตัวเรือหลายจุดบนฝั่งกาบขวา และทำให้ห้องกันน้ำ 5 ใน16 ห้องถูกเปิดออก
อีกสองชั่วโมงให้หลัง น้ำทะเลได้เริ่มทะลักเข้ามาในตัว แต่ผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกตื่นตระหนก เพราะไม่เชื่อว่าเรือขนาดใหญ่ลำนี้จะจมได้ดังที่มีคำโฆษณาชวนเชื่อบอกไว้ จึงยังคงทำกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไปอย่างใจเย็น
กระทั่งเรือค่อย ๆ อับปางลง กัปตัน เอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ จึงสั่งให้รีบอพยพผู้โดยสาร โดยให้ผู้หญิงและเด็กลงเรือไปก่อน
เมื่อผู้โดยสารเรือไททานิคส่วนใหญ่เริ่มเห็นสีหน้าและการทำงานที่เคร่งเครียดของลูกเรือ จึงเริ่มเชื่อแล้วว่าเรือไททานิคคงจะจมจริง ๆ ประกอบกับมีการยิงพลุขอความช่วยเหลือขึ้นฟ้า ทำให้เกิดความตื่นตระหนกขึ้นภายในเรือ
ทุกคนพยายามจะแย่งกันขึ้นเรือชูชีพ จนเกิดความวุ่นวายขึ้น แต่ยังมีผู้ชายบางคนแสดงความเป็นสุภาพบุรุษด้วยการยอมให้เด็กและผู้หญิงลงเรือชูชีพไปก่อน
ด้วยความเร่งรีบของลูกเรือไททานิคที่เผชิญเหตุการณ์วุ่นวายตรงหน้า ทำให้เรือชูชีพแต่ละลำยังบรรจุผู้โดยสารไม่เต็มจำนวนก็ถูกปล่อยลงท้องทะเลไป
จนกระทั่งเรือชูชีพถูกปล่อยลงทะเลไปหมด ทิ้งผู้โดยสารไว้เผชิญชะตากรรมบนเรือที่กำลังอับปางและแตกออกเป็นสองท่อนอีกกว่า 1,500 คน
จนในที่สุดเวลา 02.20 น. ของวันที่ 15 เมษายน เรือก็จมลงในแนวดิ่ง แม้ผู้โดยสารจำนวนมากจะสวมชูชีพลอยคออยู่ในทะเล แต่สุดท้ายก็เสียชีวิตจากภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia) เนื่องจากน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกเย็นจัดจนเป็นน้ำแข็ง
ผู้รอดชีวิต 710 คนถูกนำขึ้นเรืออาร์เอ็มเอส คาร์พาเธีย (RMS Carpathia) อีกไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง
ภัยพิบัติดังกล่าวทำให้ทั่วโลกตกตะลึงและเศร้าสลด จากการสูญเสียชีวิตอย่างใหญ่หลวง และบางส่วนเกรี้ยวโกรธ กับความล้มเหลวของกฎระเบียบและปฏิบัติการซึ่งนำไปสู่ภัยพิบัตินั้น
การไต่สวนสาธารณะในอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา นำมาซึ่งพัฒนาการหลักในความปลอดภัยทางทะเล หนึ่งในมรดกสำคัญที่สุด คือ การจัดตั้งอนุสัญญาความปลอดภัยของชีวิตในทะเลระหว่างประเทศ (SOLAS) ใน ค.ศ. 1914 ซึ่งยังควบคุมความปลอดภัยในทะเลตราบจนทุกวันนี้
ผู้รอดชีวิตหลายคน สูญเสียเงินและทรัพย์สินทั้งหมด และถูกทิ้งให้อดอยากแร้นแค้น หลายครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งของสมาชิกลูกเรือจากเซาท์แทมป์ตัน สูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากความเห็นใจจากประชาชนทั่วประเทศ มีการบริจาคของมูลนิธิที่หลั่งไหลเข้ามา
โศกนาฏกรรมเรือไททานิคครั้งนี้ กลืนชีวิตผู้คนไปมากถึง 1,514 คน ขณะที่มีผู้รอดชีวิตจากการอพยพหนีได้ทันเพียง 710 คน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีการตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของเรือโดยสาร เพราะเรือไททานิคนี้ แม้จะถูกระบุว่าสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 2,435 คน แต่กลับมีห่วงชูชีพเพียง 49 ห่วง และมีเรือชูชีพที่รองรับคนได้เพียง 1,178 คนเท่านั้น ขณะที่ลูกเรือก็ไม่ได้บรรทุกคนลงในเรือชูชีพได้เต็มลำ แต่กลับปล่อยเรือออกมาก่อน
อีกเรื่องที่น่าเศร้าที่พบในการสอบสวนก็คือ ก่อนที่เรือไททานิคจะชนภูเขาน้ำแข็งเพียงไม่กี่ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่บนฝั่งส่งวิทยุโทรเลขมาแจ้งเตือน ถึง 7 ครั้ง ว่าให้เรือไททานิคระวังภูเขาน้ำแข็ง ที่กระจัดกระจายอยู่ในเส้นทางข้างหน้า แต่ข้อความดังกล่าว กลับไม่ได้ถูกส่งต่อไปยังกัปตัน หรือเจ้าหน้าที่เรือแม้แต่คนเดียว เพราะพนักงานวิทยุโทรเลขยุ่งอยู่กับการส่งวิทยุโทรเลขให้ผู้โดยสารนั่นเอง
กัปตัน เอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ เป็นผู้สั่งการให้ผู้โดยสารรีบอพยพ และเขาก็ยืนหยัดที่จะอยู่กับลูกเรือและผู้โดยสารกว่า 1,500 คน ก่อนที่เรือจะจมดิ่งลงสู่มหาสมุทร ปิดฉากวาระสุดท้ายของกัปตันวัย 62 ปี ไว้กับเรือไททานิคอันเป็นตำนานที่น่ากล่าวขานต่อไป

ข้อมูลเฉพาะของเรือไททานิค
ไททานิกเป็นเรือที่เปิดศักราชใหม่ให้กับอุตสาหกรรมเรือเดินสมุทร เนื่องจากเป็นเรือลำแรก ๆ ของโลกที่สร้างโดยโลหะและรองรับผู้โดยสารได้ถึง 2,435 คน ยาว 269.0622 เมตร กว้าง 28.194 เมตร ขนาดของเรือ 46,328 ตัน แบ่งเป็น 9 ชั้น เรียงจากชั้นบนลงชั้นล่างได้ดังนี้
- ดาดฟ้า สงวนไว้ให้ผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นสอง มีปล่องไฟ 4 ตัว สูงตัวละ 19 เมตร และห้องยิมเนเซียม
- ชั้น A ห้องนั่งเล่น ห้องสมุด[7] ห้องสูบบุหรี่ คาเฟ่ขนาดเล็ก และเนิร์สเซอรี่ของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง
- ชั้น B ห้องอาหาร a la carte ร้านกาแฟแบบปารีส ของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง และห้องสูบบุหรี่ผู้โดยสารชั้นสอง
- ชั้น C ห้องสมุดของผู้โดยสารชั้นสอง ห้องเอนกประสงค์ของผู้โดยสารชั้นสาม
- ชั้น D ห้องอาหารของผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นสอง
- ชั้น E ห้องนอนของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง สอง สาม ลูกเรือ
- ชั้น F ห้องอาหารของผู้โดยสารชั้นสาม
- ชั้น G สระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำแบบตุรกี และห้องเก็บกระเป๋าเดินทาง
- ชั้นห้องเครื่อง มี 16 ห้อง หม้อน้ำรวม 29 ชุด ส่งเชื้อเพลิงให้เครื่องยนต์ 3 ตัว เครื่องยนต์ 3 ตัว หมุนใบจักร 3 ใบ รวม 50000 แรงม้า เร่งความเร็วเรือได้สูงสุด 23 น็อต (42.596 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ความเร็วมาตรฐาน 21 น็อต (38.892 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ห้องเครื่องทั้ง 16 ห้องมีกำแพงสูงถึงชั้น F และมีประตูกลซึ่งจะปิดลงมาทุกบานทั่วลำเรือเมื่อพบเหตุผิดปกติที่ห้องเครื่องใดห้องเครื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าหากไม่เกิดรอยรั่วในหลายห้องเครื่องจนเกินไป ตามหลักการลอยตัวแล้ว เรือจะไม่จม ถึงแม้จะเป็นจุดอ่อนที่สุดของเรือซึ่งก็คือหัวเรือ ก็ยังรับรอยแตกได้ถึง 4 ห้องเครื่องติดกันโดยไม่จม
- ไททานิก มีลิฟต์ 4 ตัว ในจำนวนนี้ 3 ตัว ถูกสงวนไว้สำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง อีก 1 ตัว มีไว้สำหรับผู้โดยสารชั้นสอง ส่วนผู้โดยสารชั้นสามไม่มีสิทธิ์ใช้ลิฟต์
ในการบรรจุผู้โดยสาร โดยปกติ เรือไททานิก สามารถจุผู้โดยสารได้ 2,435 คน โดยแบ่งเป็น ชั้นสาม 1,026 คน , ชั้นสอง 674 คน และชั้นหนึ่ง 735 คน และลูกเรีออีก 892 คน รวมผู้โดยสารและลูกเรือ 3,327 คน แต่ถ้าในอนาคต ถ้าสายการเดินเรือต้องการเพิ่มความจุผู้คน จะสามารถดัดแปลงเรือให้จุผู้โดยสารและลูกเรือได้มากขึ้นอีก 220 คน เป็น 3,547 คน (แต่ยังไม่ได้รับการดัดแปลง) แต่ในการเดินทางเที่ยวแรก มีผู้โดยสารประมาณ 2,208 คน
แต่ว่าเรือสำรองช่วยชีวิตหรือเรือบดนั้นเพียงพอสำหรับผู้โดยสารเพียง 1,178 คนเท่านั้น โดยจะแบ่งเป็น 20 ลำ ในจำนวนนี้ 14 ลำ จุได้ 65 คน , 4 ลำ จุได้ 47 คน และอีก 2 ลำ จุได้ 40 คน
การเดินทางครั้งแรก เริ่มการเดินทางที่เมืองเซาท์แธมตัน ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 ควบคุมโดยกัปตัน เอ็ดเวิร์ด เจ. สมิธ (Edward J. Smith) เพื่อเดินทางไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในการเดินทางครั้งนั้น มีผู้เดินทางรวมทั้งหมด 2,208 คน แบ่งเป็นลูกเรือ 891 คน , ผู้โดยสารชั้นสาม 708 คน , ผู้โดยสารชั้นสอง 285 คน และผู้โดยสารชั้นหนึ่ง 324 คน
ภาพและข้อมูลจาก
- https://hilight.kapook.com/view/100879
- https://pantip.com/topic/31919100
Hits: 3548